ที่ทาง admin ขอให้หมอส่งเคสน่าสนใจมา วันนี้คิดว่าจะมาเล่าสู่กันฟังเรื่อง “การฉีดฟิลเลอร์เสริมเต้านม”ครับ หมอเจออยู่บ่อยๆและคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาหนึ่งของวงการสาธารณสุขไทยทีเดียว ในฐานะที่หมอเป็นศัลยแพทย์ตกแต่ง ที่อยู่ในสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย ขอเรียนก่อนว่าทางศัลยแพทย์ตกแต่งนั้นไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในการฉีดสารฟิลเลอร์ปริมาณมากเข้าไปในเนื้อเต้านม ซึ่งมีปัญหาได้หลายประการ ทางคนไข้ที่มารับการผ่าตัดแก้ไขฟิลเลอร์ที่เต้านมกับหมอ มักจะให้เหตุผลว่ายอมไปทำมาหลักแสน เพราะเห็นว่าไม่มีแผลเป็น มีเพียงรอยเข็มเล็กๆ ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องพักฟื้น และคนชักชวนก็ยืนยันว่าทำได้ปลอดภัย และสารเหล่านี้จะสลายไปเอง แถมมีมาตรฐาน CE ของยุโรปด้วยนะ ( แต่จริงๆแล้วต้องดูว่าเขาอนุญาตให้ใช้ในรูปแบบใด สามารถนำมาฉีดเต้านมได้หรือไม่?)
สารที่ใช้ในการฉีดเสริมหน้าอก ถ้าไม่นับที่ฉีดตามหมอกระเป๋าที่เป็นพวกซิลิโคนเหลวบ้าง น้ำมันมะกอกบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าอักเสบรุนแรงตลอดชีวิตกันเลยทีเดียว หากเป็นกลุ่มฟิลเลอร์สามารถแบ่งเป็นสองประเภท คือ 1. กลุ่มที่ดูดซึมกลับเร็ว hyaluronic acid-based เช่น macrolane ซึ่งเคลมว่าดูดซึมหายไปได้เองใน1 ปี หรือ 2.กลุ่มกึ่งถาวร ที่ชอบบอกกันว่า 5 ปีสลายไปเอง เช่น Polyacrylamide hydrogel (PAAG) ในบ้านเรามักใช้ชื่ Aquamid แต่เชื่อไหมครับว่าปัจจุบันทุกชนิดนั้นได้ถูกถอดออกจากตลาด ไม่แนะนำในการใช้เสริมหน้าอกไปหมดแล้ว แม้แต่บริษัทผู้ผลิตเองยังไม่กล้ามาแนะนำให้ใช้ !!!!!! ด้วยเหตุผลต่างๆดังนี้
-
หมอเอกซเรย์ไม่สามารถอ่านผลมะเร็งเต้านมได้ สาเหตุอันนี้เป็นเหตุให้บริษัทผู้ผลิต macrolane ระงับคำแนะนำในการใช้เสริมหน้าอก
-
องค์การอาหารและยาของอเมริกา ( US FDA) ไม่รับรองความปลอดภัยในการใช้สารฟิลเลอร์เสริมหน้าอก
-
อาจเกิดผลแทรกซ้อน เช่น จับเป็นก้อนในเต้านม การอักเสบ การติดเชื้อ อาการปวดเต้านม ซึ่งรักษายากและสำคัญที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขเอาออกจนหมด 100 %
|