|
มาทำความรู้จักกับเต้านมของคุณกันเถอะ !!! |
|
# ใครว่าเต้านมต้องมีแค่สอง / แล้วทำไมหัวนมบอด ?
เต้านมของคนเรานั้น เริ่มมีการพัฒนามาตั้งแต่ในครรภ์มารดาตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้ 5-6 สัปดาห์ สามารถกระจายตัวอยู่ตามแนวที่เรียกว่า “ แนวเส้นของเต้านม “( milk line) ซึ่งอยู่ในแนวรักแร้เรื่อยลงมาจนถึงขาหนีบ เต้านมส่วนมากจะฝ่อไปจนเหลือเพียง 2 จุดที่บริเวณหน้าอก ในรายที่ไม่เกิดการฝ่อตัวจะเกิดเต้านมเกิน( Accessory breast) หรือมีหัวนมเกิน (Accessory nipple) ตามแนวดังกล่าวได้ เห็นเหมือนเป็นก้อนไขมัน หรือจุดเล็กๆของหัวนมได้ เต้านมเกินพบมากที่สุดที่บริเวณรักแร้ (อาจมีอาการตึงคัดตามรอบเดือนที่บริเวณรักแร้ เหมือนตึงคัดเต้านม บางคนใส่เสื้อเกาะอกแล้วเป็นเนื้อนูนออกมาที่รักแร้) ส่วนหัวนมเกินพบมากที่ใต้ต่อฐานของเต้านม (บางท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไฝ) ส่วนการฝ่อไปเลย ไม่มีเต้านมมาแต่กำเนิด เรียกว่า Amastia พบน้อยมาก
ต่อมน้ำนม มีประมาณ 15-20 ต่อม กระจายไปทั่วทั้งเต้านม ปกติจะมารวมกันแล้วเปิดออกในตำแหน่งของหัวนม ซึ่งตอนแรกเกิดก็จะพบว่ามีการนูนขึ้นมาแล้ว ปัญหาการเกิดหัวนมบอด (Inverted nipple) พบได้ 2-4% เกิดจาการที่ท่อน้ำนมส่วนปลายหดสั้น ไม่เจริญเพียงพอ |
|
# รู้ไหมเต้านมประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ? / ทำไมหน้าอกถึงหย่อนได้ ? |
|
|
จากภาพ เต้านมจะประกอบไปด้วย ต่อมน้ำนม 15-20 กลุ่ม ซึ่งจะมีท่อมาเปิดร่วมกันที่บริเวณท่อน้ำนมหลัก (Lactiferrous duct) ใต้ต่อตำแหน่งของหัวนม
เนื้อเต้านมจะมีเนื้อไขมันแทรกในปริมาณที่มากที่สุด และมีระบบเส้นเลือดและระบบน้ำเหลืองมาก
เนื้อเต้านมจะมีปริมาณมากที่ตรงกลางเต้านมและด้านบน จึงเป็นบริเวณที่มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้สูงสุด
จะมีเส้นใยเล็กๆ แทรกตัวอยู่ภายในเนื้อเต้านม ช่วยพยุงเนื้อเต้านมให้อยู่ทรง เรียกว่า Cooper’s Ligament ซึ่งจะช่วยพยุงและทำให้เต้านมเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ การหย่อนของเส้นใยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรุนแรง การตั้งครรภ์ และอายุมากขึ้น ก็จะเกิดการหย่อนตัวของหน้าอกที่เรียกว่า Breast Ptosis ซึ่งสามารถปรับแต่งแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด |
|
|
|
# ระบบเล้นเลือดที่มาเลี้ยงเต้านม มีความสำคัญในการผ่าตัดมาก |
|
|
จะเห็นได้ว่าระบบเส้นเลือดมีความสลับซับซ้อนมาก ทั้งระบบเส้นเลิอดแดงและเส้นเลือดดำศัลยแพทย์ ที่ทำการผ่าตัดเต้านมต้องมีความรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะอาจเกิดการตายของเนื้อเต้านมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผ่าตัดยกกระชับเต้านม ซึ่งหากเกิดการตายของหัวนม ถือเป็นผลแทรกซ้อนที่รุนแรง |
|
|
# ระบบประสาท / ทำไมหัวนมชา หลังผ่าตัด? |
|
|
เส้นประสาทที่สำคัญคือ แขนงของเส้นประสาทชายโครงที่ 2 - 6 โดยแขนงที่สอง จะแยกบางส่วนออกไปเลี้ยงผิวหนังที่ท้องแขนและบริเวณรักแร้ บางครั้งอาจเกิดการชาได้จากการผ่าตัด สำหรับเส้นที่ศัลยแพทย์ต้องให้ความระมัดระวังมากที่สุดคือ แขนงที่ 4 ซึ่งจะมาเลี้ยงหัวนมและปานนม (พบมากถึง93%) การชาของหัวนมและปานนมโดยส่วนมากเกิดจากการยืดตัวของเส้นประสาท ซึ่งมักเป็นอาการชั่วคราว จะค่อยๆกลับมาปกติใน 2 เดือน ถึง 1 ปี บางครั้งมีอาการเจ็บเล็กน้อยที่หัวนมนำมาก่อนในช่วงเส้นประสาทฟื้นตัวได้ |
|
|
|
|