|
|
การเสริมหน้าอก Breast Augmentation
เป็นการผ่าตัดที่มีความนิยมมากทั่วโลก จากสถิติทางการแพทย์ล่าสุดเป็นการผ่าตัดศํลยกรรมตกแต่งที่ทำกันมากเป็นอันดับสอง และมีผู้เข้ารับการผ่าตัดชนิดนี้นับล้านคนในแต่ละปี การเสริมหน้าอกนั้นมีประวัติความเป็นมาครั้งแรกที่ประเทศอเมริกาที่ประมาณ 50 ปีก่อน โดยถุงซิลิโคนชนิดแรกนั้นเกิดจากการค้นพบโดยบังเอิญของนักศึกษาแพทย์ ที่ชื่อโทมัส บิกส์และต่อมาได้กลายมาเป็นศํลยแพทย์ตกแต่งที่มีชื่อเสียงระดับโลกและยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษํทผลิตซิลิโคนในยุคแรกๆ ประโยชน์ของการผ่าตัดเสริมหน้าอกนั้นนอกจากช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพและความมั่นใจให้กับคนไข้ปกติทั่วไปแล้วยังสามารถช่วยคนไข้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่ผ่าตัดเต้านมออกไปแล้วด้วย โดยปัจจุบันการเสริมหน้าอกนั้นมีวิธีการต่างๆดังนี้ |
เทคนิกทางด้านผ่าตัดเสริมหน้าอก สามารถแบ่งได้ดังนี้
1. การเสริมเต้านมโดยใช้ถุงเต้านมเทียมเพียงอย่างเดียว (Breast implant only )
2. การเสริมเต้านมโดยใช้ถุงเต้านมเทียม ร่วมกับ การฉีดไขมันตนเอง (Composite Breast implant with Autologous Lipoplasty หรือ hybrid technique)
3. การเสริมเต้านมโดยการฉีดไขมันตนเองเพียงอย่างเดียว ร่วมกับการทำสเต็มเซล เพื่อเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของเซลไขมัน (Cell Assisted Lipoplasty - CAL technique)
|
|
|
|
|
การเสริมหน้าอกด้วยถุงเต้านมเทียม
(Breast Implant)
|
เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก โดยถุงซิลิโคนในปัจจุบันมีความทนทานสูง ปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีในรุ่นที่สาม หรือ third generation implant ซึ่งจะมีการผลิตเปลือกซิลิโคนหลายชั้น และเพิ่มเจลชนิดมีความหนาแน่น เจลภายในเป็นลักษณะจับเป็นก้อนแบบ Cohesive gel หรือ Gummy bear ทำให้ปลอดภัยลดปัญหาการรั่วซึมของซิลิโคน (Gel bleed) วิธีการทำผ่าตัดมีความหลากหลาย ขึ้นกับหน้าอกแต่ละแบบ แต่ละประเภท
|
|
|
แผลผ่าตัดเสริมหน้าอกที่บริเวณไหน ต่างกันอย่างไร / โอกาสการเกิดแผลเป็นนูนต่างกันอย่างไร ?
- แผลผ่าตัด มี 3 ที่ คือ รักแร้ ปานนม และ ฐานหน้าอก
แผลที่รักแร้ ( Axillary approach)
เป็นแผลผ่าตัดที่ได้รับความนิยมในคนเอเชีย โดยเชื้อชาติเอเชียนั้นมีความเสี่ยงการเกิดแผลนูนได้มากกว่าฝรั่งผิวขาว และเนื่องจากรักแร้นั้นมีความตึงของผิวหนังต่ำเพราะปกติเนื้อจะหย่อนกว่าที่อื่น จึงมีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้น้อยกว่าบริเวณอื่น
|
การผ่าตัดทางรักแร้ มี 2 วิธี |
1. การผ่าตัดทางรักแร้แบบเดิม (Conventional method)
เป็นวิธีที่ใช้มากว่า 30-40 ปี สะดวกรวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือ อาการปวดจากการผ่าตัดที่ต้องใช้เครื่องมือคล้ายเหล็กโค้งในการเซาะช่องใต้กล้ามเนื้อในการวางซิลิโคน และมีข้อจำกัดในการห้ามเลือดเนื่องจากแพทย์ไม่สามารถมองเห็นภายในจึงต้องอาศัยกลไกการแข็งตัวของเลือดช่วยหยุดเลือดและการใส่สายระบายเลือด รวมถึงต้องพันผ้ารัดแน่นช่วย การอักเสบระบมในบางรายจึงมากกว่าปกติ เชื่อว่าการอักเสบที่มากกว่านี้ ทำให้ร่างกายตอบสนองมาก มีการสร้างเซลมามากเกินไป จึงกระตุ้นให้ทำให้เกิดผังผืดในอัตราที่สูงกว่าวิธีอื่น เช่น การผ่าตัดส่องกล้องทางรักแร้ หรือการผ่าตัดทางราวนม
2. การผ่าตัดผ่านกล้องทางรักแร้ (Transaxillary Endoscopic-Assisted breast augmentation)
เป็นวิธีที่มีการใช้แพร่หลายในต่างประเทศ และได้กลายเป็นมาตรฐานไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าในประเทศไทยจะมาทดแทนการผ่าตัดทางรักแร้แบบเดิมในอนาคต จากการที่มีคนไข้นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันการส่องกล้องเป็นที่นิยมและ เป็นเทคนิคที่ดีที่สุดในกรณีที่คนไข้เลือกผ่าตัดทางรักแร้เพราะ ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นทุกสเตปการผ่าตัด สามารถลดการบาดเจ็บที่ไม่จำเป็น ห้ามเลือดได้ดีเพราะที่ปลายกล้องจะมีอุปกรณ์ห้ามเลือด หลังผ่าตัดเจ็บน้อยกว่า พักฟื้นสั้น ผังผืดน้อย และซ่อนแผลไว้ที่รักแร้ อีกทั้งสามารถแก้ไขรูปทรงหน้าอกที่อาจมีปัญหาได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการผ่าตัดทางรักแร้วิธีเดิม |
|
|
แผลที่ปานนม ( Periareolar approach )
ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมในศัลยแพทย์ตกแต่งมากนักเนื่องจากมีรายงานการเกิดผังผืด หน้าอกแข็งตัวมากกว่าวิธีผ่าตัดอื่นๆ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการที่แผลผ่าตัดต้องผ่าตัดผ่านบริเวณเนื้อเต้านมบางส่วน ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากท่อน้ำนม และเป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบชนิดเรื้อรังและเกิดหน้าอกแข็งมีผังผืดตามมา ส่วนแผลเป็นนั้นก็ไม่แน่นอนนัก สามารถเกิดแผลนูนได้พอสมควร และสามารถมองเห็นแผลเป็นได้ชัดทางด้านหน้าได้ในท่ายืนตรง
|
|
แผลที่ฐานอก (ราวนม หรือ Inframammary approach)
เป็นแผลที่มีข้อดีคือ ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นได้โดยตรงและสามารถทำการผ่าตัดได้อย่างละเอียด ห้ามเลือดได้ดี ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากนัก ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ถือแผลผ่าตัดที่นิยมมากที่สุดในคนไข้ชาวตะวันตกผิวขาว อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัญหาเรื่องแผลเป็นในคนเอเชียที่เสี่ยงมากกว่า จึงเหมาะสำหรับผู้ที่พอร่ับความเสี่ยงเรื่องแผลเป็นและไม่กังวลมากนักหากต้องรักษาแผลนูนเพิ่ม
|
|
|
|
ตำแหน่งในการวางซิลิโคน สามารถแบ่งได้เป็น เหนือกล้ามเนื้อหน้าอกหรือใต้เนื้อเต้านม ( Subglandular plane ) และ ใต้กล้ามเนื้อหน้าอก ( Submuscular plane) โดยทั่่วไปแล้วหากเนื้อเต้านมธรรมชาติมีน้อยมากและผิวหนังบาง มักแนะนำให้เสริมใต้กล้ามเนื้อหน้าอกเพื่อให้มีเนื้อเยื่อหนาพอในการปกปิดขอบซิลิโคนไม่ให้สามารถสัมผัสได้มากจนเกินไป |
การเลือกขนาดซิลิโคนที่เหมาะสมนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ถือเป็นหัวใจของการผ่าตัดเสริมหน้าอก โดยขนาดซิลิโคนที่เหมาะสมนั้นไม่ควรมีความกว้างเกินกว่าขนาดของลำตัว หรือขอบเขตของเต้านม เนื่องจากจะเกิดปัญหาการคลำรอยย่นของซิลิโคน ( Ripple) ได้ชัดเจนเนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณขอบๆจะบางไม่สามารถปกปิดถุงซิลิโคนได้ดีพอ หากฝืนมากอาจมองเห็นรอยย่นได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจเกิดการเชื่อมกันของร่องอก เป็นลักษณะ อกแฝด หรือที่เรียกว่า Symmastia ซึ่งรักษายากมาก ยังไม่นับว่าอาจเกิดการชาถาวรของหัวนมและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหานมสองลอน ( Double bubble ) และเสี่ยงต่อการผ่าตัดแก้ไขบ่อยๆด้วย
|
|
|
การเสริมหน้าอกด้วยถุงเต้านมเทียม ร่วมกับการฉีดไขมันตนเอง
(Composite breast implant with Lipoplasty หรือ Hybrid technique) |
|
เทคนิคนี้มักจะใส่ซิลิโคนขนาดกลางไม่ใหญ่มาก และเพิ่มการฉีดไขมันตนเองโดยรอบ เป็นการช่วยให้การเสริมหน้าอกนั้นเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เพราะได้เนื้อเยื่อที่นิ่มของไขมันมาช่วยเสริมรอบซิลิโคนในบริเวณที่เนื้อเยื่อบาง เสริมแต่งบริเวณร่องอกให้ดูชิดมากขึ้นตามต้องการ ลดปัญหาการคลำขอบถุงซิลิโคน และได้ประโยชน์จากการดูดไขมันส่วนเกินจากหน้าท้อง หรือต้นขา (secondary gain) ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนเพียงอย่างเดียวเกือบสองสามเท่า อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดว่า เหมาะสำหรับคนไข้ที่คาดหวังขนาดปกติทั่วไป เพราะไขมันนั้นไม่สามารถฉีดได้มากๆเพราะแรงดันจะสูงเกินไป ไขมันอาจจะฝ่อสลายไปทั้งหมด และซิลิโคนที่ใช้ก็ไม่ควรใช้ขนาดใหญ่จนเกินไป |
|
|
|
การเสริมหน้าอกด้วยการฉีดไขมันตนเองเพียงอย่างเดียว ร่วมกับสเต็มเซล
(CAL -Cell assisted Lipoplasty) |
|
เป็นการใช้ไขมันในปริมาณที่มากในการเสริมเต้านม ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสเต็มเซล เพื่อช่วยในการคงอยู่ของเซลไขมันให้มากที่สุด ข้อดีของการฉีดไขมันตนเองเพียงอย่างเดียว คือ เป็นการใช้เนื้อเยื่อไขมันของคนไข้เองทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีการใช้ถุงเต้านมเทียมจึง ไม่มีความเสี่ยงผังผืดรัดถุงเต้านม และได้ประโยชน์ในการลดไขมันส่วนเกินของคนไข้ จากหน้าท้อง หรือต้นขา (Secondary gain)ไปพร้อมกัน ที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เทคนิคนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก คือได้ความเป็นธรรมชาติมากที่สุดเวลาสัมผัสเหมือนเต้านมจริง และไม่มีแผลเป็นจากการผ่าตัด |
ศัลยแพทย์ต้องมีเทคนิคการเก็บและฉีดไขมันที่ดี แต่เนื่องจากการผ่าตัดนั้นกินเวลานาน ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือค่อนข้างมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงกว่าการเสริมด้วยซิลิโคนอยู่มากพอสมควร และ ข้อจำกัดคือสามารถเพิ่มขนาดได้ประมาณ 1 คัพไซส์เท่านั้น จึงเหมาะกับผู้ที่มีเนื้อเต้านมธรรมชาติอยู่แล้วและต้องการเพิ่มขนาดปานกลาง หรือหลังการมีบุตรแล้วเต้านมมีขนาดลดลง เพื่อเติมส่วนเนินอกให้ได้รูป โดยในปัจจุบันมีการผลิตเครื่องมือออกมาหลากหลายรูปแบบและมีวิธีสกัดสเตมเซลหลายวิธี
|
|
ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจการผ่าตัดชนิดนี้ควรศึกษาข้อมูลต่างๆหลายๆด้าน ตั้งแต่ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด สถานที่ผ่าตัด วัสดุและเทคนิคที่ใช้ ความสะอาด ความปลอดภัย โดยละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจ |
|
|
|